22
Dec, 2017

SHARE

List News
22 Dec, 2017

คุยกับ “นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว” จากครีเอทีฟสู่ที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์

news

สำหรับสายครีเอทีฟบ้านเรา เชื่อว่าชื่อของ “นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว” น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนยกนิ้วให้ในฝีมือ โดยเขาคนนี้คือคนที่เคยคว้ารางวัลโกลด์คานส์ รวมถึงมีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์พิเศษ และกรรมการตัดสินความคิดสร้างสรรค์โฆษณา ทั้งในและต่างประเทศมามากมาย เช่น London International Award, Adfest Thailand, Kamfan Hong Kong, Kancil Award Malaysia, Adman Thailand

นันทวัฒน์เริ่มต้นการทำงานในสายครีเอทีฟที่ Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ เมื่อปี 2002 ในตำแหน่งอาร์ตไดเร็คเตอร์ จากนั้นเขาเริ่มมองเห็นบางอย่างของวงการครีเอทีฟ และรู้สึกว่าถึงเวลาที่เขาต้องออกเดินทางเพื่อเรียนรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ให้มากขึ้น

การเดินทางครั้งนั้นกินเวลาเกือบ 10 ปี จาก 2005 – 2014 แต่ก็ทำให้เขามีประสบการณ์ในการร่วมงานกับเอเจนซีชั้นนำมากมาย ทั้ง Y&R ฮ่องกง, Bartle Bogle Hegarty ลอนดอน, JWT โตเกียว, JvM ฮัมบูร์ก, Walker ซูริค และ Ogilvy เซี่ยงไฮ้ ก่อนที่จะกลับมาเป็นผู้บริหาร Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 2014 ในตำแหน่ง Chief Creative Officer

โดยเขาเล่าว่า ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมานั้นมีทำให้ได้เห็นความแตกต่างของงานครีเอทีฟเอเจนซีในแต่ละภูมิภาค เช่น ในซีกโลกตะวันตก กระบวนการทำงานของครีเอทีฟเอเจนซีจะเข้มแข็งมาก หรือในฝั่งตะวันออกอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่เหมาะมากสำหรับสายอาร์ท เนื่องจากมีงานศิลปะมากมายให้ศึกษา

รวมไปถึงการร่วมงานกับเพื่อนที่เป็นบูทีคเอเจนซีที่สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เขาพบว่าระบบที่ Lean มากนั้นเป็นอย่างไร

“ไปถึงตกใจมาก เพราะเป็นบ้านเล็ก ๆ มีพนักงาน 8 คน โดยนโยบายของที่นี่จะทำงานกับซีอีโอ หรือถ้าเป็น MarCom ก็ต้องเป็นระดับ Decision Maker เท่านั้น ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทาย และเป็นระบบที่ lean มาก จำนวนคนไม่เยอะ ขั้นตอนการทำงานไม่เยอะ แต่กลับมีประสิทธิผลสูงมากกว่า ผมทำที่สวิสเซอร์แลนด์ไม่นาน แต่เป็นช่วงที่ผมสร้างงานได้เยอะที่สุดเท่าที่เคยอยู่ต่างประเทศมา ได้ถ่ายงานกับโปรดักชันเฮาส์ชั้นนำในหลายประเทศ และเห็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เริ่มเห็นพาวเวอร์ของการมีคนน้อย แต่ทุกคนมีโฟกัสที่ชัดเจน”

“ตอนนั้นก็แอบมีความคิดเล็ก ๆ แล้วว่า สักวันหนึ่งเราจะเปิดเอเจนซีเล็ก ๆ แบบนี้แหละ แต่ก็ยังอยากศึกษาอยู่ โดยเฉพาะตลาดจีน ก็เลยไปที่ Ogilvy เซี่ยงไฮ้อีกสองปี ที่นั่นเราได้ขยายสโคปไปอีกก้าว จากเดิมที่เราเคยทำเรื่องการสร้าง Awareness แต่ที่เซี่ยงไฮ้ เราได้ทำจนถึงระดับที่ว่า ถ้าในซูเปอร์มาร์เก็ต จะคิดมุกให้พนักงานเล่นอะไรกับลูกค้า มันทำให้เราเห็นเลยว่าจุดตัดที่ทำให้สินค้าขายได้ไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ Awareness มันมีอีกสนามรบหนึ่งที่ชื่อว่า Retail ด้วย”

“ทั้งหมดนี้มันเป็นการขยายขอบเขตการเรียนรู้ และการได้ทำหมดทั้งลูป ประกอบกับการได้ทำงานหลายประเทศ หลายตลาด หลายอุตสาหกรรม เหล่านี้มันทำให้ 9 ปีที่ออกไปต่างประเทศเป็น 9 ปีที่เข้มข้นมาก”

อย่างไรก็ดี ในปี 2014 เขาได้รับการทาบทามให้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งกับตำแหน่ง Chief Creative Officer ของ Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อเขาตัดสินใจกลับมา ก็พบว่าตลาดเอเจนซีเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง

“เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ท้ั้งฟากผู้บริโภคไทยที่เริ่มเข้าสู่ยุค Social Media เต็มรูปแบบ ลูกค้าเริ่มมีการตัดงบ ความสำคัญของสื่อ TVC เริ่มมีน้อยลง ตอนนั้นเรามองว่า รูปแบบการทำงานอาจทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วหรือเปล่า และการแข่งขันในวงการสูงมาก ขณะที่ธุรกิจเองก็เริ่ม Get Lost มากขึ้นเช่นกัน หลาย ๆ ครั้งที่การลงเงินไปนั้นไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าที่ควร”

คุณนันทวัฒน์กับลูกชาย น้องนวิน เจ้าของที่มาของชื่อบริษัท Nawin Consultant

“ผมมานั่งคิดว่าถ้าผมเป็นลูกค้า แล้วธุรกิจมีปัญหา แต่ไม่แน่ใจว่าต้องรีแบรนด์หรือเปล่า ผมจะไปคุยกับใครได้บ้าง ต้องไปคุยกับบริษัทที่ปรึกษาดัง ๆ แล้วต้องมารีแบรนด์สเกลใหญ่หรือเปล่า หรือถ้าต้องไปเอเจนซี ลูกค้าก็อาจกลัวว่า ก็ฉันยังไม่อยากอัดแคมเปญโฆษณา แล้วอย่างนั้นลูกค้าจะทำอย่างไร”

จากการคิดจนตกผลึก เขาจึงพบว่า ยังมีช่องว่างสำหรับเซอร์วิส ๆ หนึ่ง นั่นคือ การเป็นที่ปรึกษา และด้วยประสบการณ์ในสายครีเอทีฟเอเจนซีที่ผ่านมากว่า 15 ปีของเขานั้น มองว่า ความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยสร้างแบรนด์และแผนธุรกิจได้ทุกจุด ไม่จำเป็นต้องรอจนถึง P ตัวสุดท้ายอย่าง Promotion จึงค่อยเป็นงานของครีเอทีฟอีกต่อไป อีกทั้งยังมองว่ายังไม่มีผู้ให้บริการในรูปแบบนี้อย่างครบวงจรจึงเป็นที่มาของการเปิดตัวบริษัท Nawin Consultant ในที่สุด

โดย Nawin จะเข้าไปรับบรีฟเพื่อฟังรูปแบบธุรกิจ หาจุดอ่อนจุดแข็งที่จะเสริมหรือต้องปรับ เข้าสู่กระบวนการให้คำแนะนำถึงการปรับตัวในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรือโอกาสของธุรกิจนั้นๆ อาทิ การเลือกใช้โลโก้ Font การใช้สีเพื่อสื่อถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ ชื่อแบรนด์ การช่วยคิดแพคเก็จจิ้ง การขยายไลน์ ขยายตลาด คำแนะนำที่จะทำให้ลูกค้าตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการปรับภาพลักษณ์ หรือเริ่มต้นขึ้นแบรนด์ใหม่

“ต้องบอกว่าผมขายประสบการณ์กับคอนเนคชั่น เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกเราได้ว่าอะไรทำแล้วเฟล อะไรทำแล้วเกิด หรือถ้าอยากได้ผู้กำกับควรเป็นใคร แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ เทรนด์ในยุคต่อไปต้องมีความดิจิทัล เรื่องของการเสิร์ช การทำ Micro-Influencer เราต้อง connect กับโซลูชันที่เป็นดิจิทัลได้”

ซึ่งในจุดนี้ ทาง Nawin Consultant ได้จับมือกับ Adyim ที่เชี่ยวชาญในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งโซลูชั่นของเมืองไทย รวมถึงมีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาช่วยซัพพอร์ทลูกค้าด้วย โดยลูกค้าของ Nawin มีทั้งสถาบันการศึกษา, อุตสาหกรรมยานยนต์, ฯลฯ รวมถึงการรับหน้าที่เข้าไปเซ็ททีมงานดิจิทัลให้กับองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น

“ทุกวันนี้สิ่งที่พบจากการคุยกับหลาย ๆ แบรนด์คือ เมื่อก่อนไม่มีคู่แข่งเยอะขนาดนี้ และมันทำให้ธุรกิจเข้าสู่การสู้กันดัวยราคา หากแนะนำได้คงต้องบอกว่าแบรนด์อาจต้องถอยออกมาก่อน แล้วบิดจุดแข็งของตัวเอง เพื่อไม่ให้ต้องเข้าไปแข่งในสมรภูมิราคากับผู้ค้ารายอื่นๆ”

“หรืออย่างคุณทำธุรกิจโรงเรียน จะทำอย่างไรให้มันไม่น่าเบื่อ ให้มันโดดเด่นออกมา เป็น Uniqlo แห่งโรงเรียน ต้องตั้งชื่อใหม่ไหม ทำ CRM ไหม นอกจากนี้ผมมีแคทตาล็อกให้คุณดูเลย ว่ามีดีไซเนอร์คนไหนบ้าง แต่ละคนผลงานเป็นอย่างไร ราคาเท่าไร จากนั้นคุณก็ติดต่อกันเอง ผมไม่ได้ชาร์จ On Top เพิ่มใด ๆ หรือถ้ามีดีไซเนอร์ในใจแล้วเอาพอร์ทเขามาให้ผมดูได้ ผมจะช่วยแนะนำว่าคนไหนน่าจะเหมาะกับการสร้างงานนี้มากกว่ากัน ซึ่งตรงนี้เรามองว่ามันแฟร์ มันจริงใจ เหมือนผมเป็นพาร์ทเนอร์ ให้ผมมาช่วยคิดว่าทำอย่างไรให้เขาหาเงินได้มากขึ้น และในความเป็นครีเอทีฟ ผมอยากช่วยว่าเขาจะประหยัดเงินได้อย่างไรบ้าง กระบวนการนี้จะลดต้นทุนได้อย่างไรบ้าง”

“ลูกค้าก็แฮปปี้ ที่ผมไม่มีความเป็น Business แต่เราเอาความเป็นครีเอทีฟมาคุยกัน หลายครั้งที่การคุยงานกับลูกค้ามันทำให้เราได้ Find Out ปัญหา และได้ไอเดียกลับไป เหมือนผมไปจุดวิญญาณครีเอทีฟของเขาขึ้นมาใหม่ คือผมเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนมากมีความเป็นครีเอทีฟนะ เพราะไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ออกมาทำธุรกิจหรอก แต่พอนานวันไปมันลืม Passion ของเขาไป เราเลยต้องจุดขึ้นมา แต่สุดท้ายความคิดสร้างสรรค์เป็นแค่เครื่องมือ ลูกค้าต้องการผลลัพธ์ก็คือขายของได้ ซึ่งครีเอทีฟต้องช่วยลูกค้าขายของก่อน หากเราพยายามเข้าใจตรงนี้เราจะทำงานได้อย่างมีความสุข”

 

ขอขอบคุณ
ข้อมูล : Thumbsup Online

SHARE

List News
ratio

Contact us Now

Please leave your message here and we will be in touch.
*Please fill in all information....
SUBMIT

SUBSCRIBE

to our monthly newsletters